สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การเพิกถอนการให้ หากบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินอีกทอดโดยสุจริตจะขอเพิกถอนไม่ได้

การให้โดยเสน่หานั้น ผู้ให้อาจเพิกถอนการให้เพราะเหตุพฤติเนรคุณได้ แต่หากว่า ผู้รับการให้ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ไปให้แก่บุคคลภายนอกในระหว่างพิจารณาคดี โดยบุคคลภายนอกไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้รับการให้จะฟ้องเพิกถอนการให้ ผู้ให้ก็ไม่อาจฟ้องเพิกถอนการทำนิติกรรมระหว่างผู้รับการให้กับบุคคลภายนอกได้

โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา แล้วจำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โจทก์ฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ และขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าเป็นการสมยอมกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณากับมิได้อุทธรณ์ คงอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนี้ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3627/2526
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ โจทก์จึงฟ้องถอนคืนการให้ ระหว่างพิจารณาคดีนั้นจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 เป็นการสมยอมกันฉ้อฉลโจทก์โดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้พิพากษาถอนคืนการให้และเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตไม่ทราบถึงเรื่องที่โจทก์ฟ้องถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์

 

จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตอันมีค่าตอบแทน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์จะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้ ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์แล้ว เพียงแต่โจทก์ไม่อาจได้ที่ดินพิพาทคืนเพราะที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมดรวมถึงที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3ส่วนคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร